เคยสงสัยไหมว่าเมื่อสนใจจะทำ Mobile Application จะต้องเลือกทำแบบไหน เพราะมีให้เลือกหลายประเภท หากคุณยังไม่รู้ว่าแอปมือถือมีกี่ประเภท มีอะไรบ้าง สามารถศึกษาได้จากบทความนี้ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกพัฒนาอย่างถูกต้อง
ทำไมแอปพลิเคชันมือถือถึงมีหลายประเภท
เนื่องด้วยขีดจำกัดในการพัฒนา และความยากง่าย ทำให้การพัฒนา Mobile Application จะต้องมีข้อจำกัดชัดเจนว่ามุ่งเน้นในการพัฒนาแบบใด ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของต้นทุนในการพัฒนาที่ไม่เท่ากันด้วยนั่นเอง ยิ่งต้องการระบบที่รองรับได้มากขึ้น สามารถใช้งานกับระบบไหนก็ได้ ทางทีมผู้พัฒนาจะยิ่งต้องจ่ายเวลาในการปรับแต่งมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้งบในการทำพุ่งสูงขึ้นตาม
ด้วยเหตุนี้การจำแนกแอปมือถือออกเป็นประเภทต่าง ๆ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบรีฟงานที่คุณในฐานะผู้จ้างจำเป็นจะต้องเรียนรู้ก่อนเพื่อให้การตกลงงานโปรเจกต์นี้เป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง : 3 ธุรกิจที่ควรมีแอปพลิเคชัน และต้นทุนในการพัฒนา
3 ประเภทแอปพลิเคชันมือถือ
ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาแอปมือถือ เราต้องรู้ว่าแอปที่เราต้องการเป็นแอปประเภทไหน มีขอบเขตการใช้งานได้กับกี่ระบบปฏิบัติการ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้หลัก ๆ 3 ประเภท ได้แก่
1. Native Application
เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันมือถือที่มุ่งเน้นให้รองรับเฉพาะระบบปฏิบัติการ จะเป็นการออกแบบเจาะจง ไม่สามารถใช้ข้ามระบบปฏิบัติการได้ ตัวอย่างเช่น แอปสั่งอาหาร A ออกแบบ Native Application สำหรับใช้ใน iOS หมายความว่าจะไม่สามารถใช้ใน Android ได้นั่นเอง ทำให้ข้อดีของการทำแอปประเภทนี้ คือ ประหยัดต้นทุนในการพัฒนา เพราะไม่ต้องปรับแต่งให้เข้ากับระบบปฏิบัติการหลายประเภท
2. Hybrid Application
การออกแบบแอปมือถือแบบ Hybrid Application เป็นการออกแบบที่ตรงกันข้ามกับ Native Application หรือก็คือการออกแบบให้แอปสามารถใช้งานได้ในหลายระบบหลายปฏิบัติการไม่ได้เฉพาะเจาะจงเฉพาะบางระบบเท่านั้น เช่น แอปเรียกรถ B ออกแบบให้ใช้งานใน iOS และยังสามารถโหลดมาใช้งานสำหรับระบบ Android ได้ด้วยเช่นกัน
3. Web Application
เป็นการออกแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และเหมาะกับธุรกิจที่สุด ด้วยการออกแบบให้สามารถใช้งานได้บนเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) ได้เหมือนกับใช้งานบนมือถือ สามารถตอบสนองระบบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีไม่แพ้การใช้ในมือถือเลย การออกแบบส่วนนี้ยังรวมไปถึงการปรับแต่งบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานบนเว็บด้วย นอกจากนี้ยังมีจุดเด่น คือ สามารถเข้ามาใช้งานได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบแอปที่ไม่ได้เป็นประเภทแอปมือถือด้วย นั่นคือ แอปสำหรับ Desktop ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในคอมพิวเตอร์ หรือจอ PC เท่านั้น ไม่ได้รองรับการใช้งานในมือถือ หากต้องการจะให้ใช้ได้ในมือถือ ต้องลงทุนพัฒนาใหม่โดยยึดจาก 3 ประเภทหลักที่เรากล่าวไว้ด้านบนอีกทีนั่นเอง
ค่าใช้จ่ายในการทำแอปพลิเคชันแต่ละประเภท
ค่าใช้จ่ายในการทำแอปพลิเคชันมือถือแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของระบบที่ต้องการ และระบบปฏิบัติการที่ต้องการให้ใช้งานได้นั่นเอง โดยแอปที่มีราคาในการพัฒนาถูกที่สุด คือ Native Application ตามด้วย Hybrid Application และ Web Application ตามลำดับ
ช่วงราคาโดยทั่วไปจะเริ่มต้นที่ประมาณ 200,000-300,000 บาทขึ้นไปต่อการพัฒนา 1 แอปมือถือ ราคาจะเพิ่มขึ้นตามระบบที่ต้องการ ยิ่งซับซ้อนจะยิ่งทำให้ราคาในการพัฒนาแพงขึ้นไปอีก โดยราคาประมาณนี้ยังไม่รวมค่าบริการอื่น ๆ ที่อาจตามมา เช่น หากต้องการให้ Update ระบบในระยะยาวอาจต้องจ้างทีมช่วยดูแลต่อซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน ดังนั้นเราแนะนำว่าก่อนลงมือพัฒนาแอป จะต้องเตรียมต้นทุนสำรองในจุดนี้เอาไว้ด้วย
ควรเลือกแอปพลิเคชันประเภทไหนถึงเหมาะที่สุด
หลักเกณฑ์ที่จะนำมากำหนดประเภทของแอปพลิเคชัน เราต้องบอกตามตรงว่าขึ้นอยู่กับ “งบประมาณ” ที่คุณสามารถรับไหว ถึงแม้จะดูเป็นทุนนิยม แต่ความเป็นจริง คือ การพัฒนาแอปแบบ Native Application จะทำให้เข้าถึงผู้ใช้งานในปริมาณที่น้อยกว่าแบบอื่นมาก แต่แลกมาด้วยราคาในการพัฒนาที่ถูกที่สุดแล้ว ยิ่งเข้าถึงผู้ใช้งานได้เพียงทางเดียว จะยิ่งทำให้คนที่เข้ามาใช้แอปน้อยลง ทำให้ขายของได้น้อยลงด้วย
ในทางกลับกันการพัฒนาแบบ Web Application ที่ตอบรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแล้ว และสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมาก จึงกลายมาเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด หากคุณมีงบประมาณที่สูงพอ อย่างไรก็ตามหากคุณมีงบจำกัด แต่มีไอเดียทำแอปแล้ว ก็ค่อย ๆ พัฒนาแอปโดยเริ่มจากแบบ Native ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายออกไปยังระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ในภายหลังได้ก็ถือว่าตอบโจทย์เหมือนกัน แต่ถ้าคุณมีงบเป็นถุงเป็นถังอย่าลังเลที่จะทำแอปแบบ Web Application ไปเลยจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อพัฒนาเพิ่มอีกรอบนั่นเอง
ทำไม Web Application จึงได้รับความนิยมในยุคนี้
นอกจากปัจจัยเรื่องการเข้าใช้งานได้หลายช่องทาง ทำให้เข้าถึงคนได้ทุกที่ทุกเวลา และทุก Device แล้ว การทำแอปที่รองรับการใช้งานบนจอคอมพิวเตอร์ยังถือว่ามีความเร็วสูง ด้วยการออกแบบเฉพาะการแสดงผลแยกบนจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้ใช้งานจะใช้งานได้ปกติ แม้ว่าอินเทอร์เน็ตมือถือจะไม่ได้เร็วตามที่เราได้กล่าวไป ด้วยเหตุนี้ทำให้ธุรกิจของคุณสามารถรักษาโอกาสที่จะขายสินค้า หรือบริการต่าง ๆ ได้มากขึ้นไปอีก
อีกเหตุผลที่ไม่สามารถมองข้ามได้ คือ จริงอยู่ที่ปัจจุบันผู้คนมักท่องโลกออนไลน์ผ่านมือถือมากกว่าบนจอคอมพิวเตอร์ไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากดูข้อมูลจริง ๆ จำนวนคนที่ใช้งานหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็มากเกินกว่าที่จะตัดออกไปได้เช่นกัน การหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาแอปที่ใช้งานได้อย่างยอดเยี่ยมในทุก Device จึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดในยุคนี้
การทำ Mobile Application สำคัญสำหรับธุรกิจมาก สามารถช่วยให้การเข้าถึงผู้ใช้งานเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จึงควรวางแผนในการพัฒนาให้ดีที่สุด และต้องเหมาะสมกับงบประมาณที่ธุรกิจของคุณมีด้วย
เลือกอ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจในหัวข้อนี้:
ที่มาข้อมูล : 1, 2