หากพูดถึงสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต หนึ่งในภัยคุกคามที่สำคัญคงหนีไม่พ้น แฮกเกอร์ (Hacker) ซึ่งมักก่อปัญหาทางไซเบอร์ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การขโมยข้อมูลส่วนตัว การแฮกบัญชีออนไลน์ หรือแม้แต่การกระจายไวรัส
อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถเหล่านี้ ก็ทำให้มีทั้งแฮกเกอร์ที่ไม่ดีและดีไปในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับแฮกเกอร์มากขึ้น ในบทความนี้ Launch Platform จะพาคุณไปรู้จักกับประเภทของแฮกเกอร์ รวมถึงบทบาทและผลกระทบของพวกเขาต่อโลกไซเบอร์ ทั้งในแง่ของภัยคุกคามและการป้องกัน ถ้าพร้อมกันแล้ว ไปดูกันครับ
กดเลือกอ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
Key Takeaways
“Hacker คือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ และเครือข่าย แต่เลือกที่จะใช้ความสามารถเพื่อเจาะระบบ แก้ไข หรือโจมตีระบบ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีแฮกเกอร์สายขาว ที่ช่วยเสริมความปลอดภัยอีกด้วย”
ไขข้อสงสัย Hacker คืออะไร
แฮกเกอร์ (Hacker) คือ บุคคลหรือกลุ่มคน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย โดยบางส่วนใช้ทักษะเหล่านี้ในการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) เช่น การเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูล การโจมตีเว็บไซต์ หรือการแฮกอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่คอมพิวเตอร์เท่านั้นที่ตกเป็นเป้าหมายของแฮกเกอร์ ยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมายที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ได้แก่
อุปกรณ์มือถือ : สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตเป็นเป้าหมายของแฮกเกอร์ เนื่องจากมีข้อมูลส่วนตัวจำนวนมาก เช่น รหัสผ่าน ข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลธนาคาร หากไม่รับการป้องกันที่ดี อาจเสี่ยงถูกโจรกรรมหรือฝังมัลแวร์ได้
อุปกรณ์ IoT : การโจมตีทาง IoT อุปกรณ์สมาร์ตโฮม เช่น กล้องวงจรปิด หรือสมาร์ตทีวี ก็เสี่ยงต่อการใช้สอดแนมได้จากผู้ไม่หวังดี
ตู้ ATM : แฮกเกอร์สามารถใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การติดตั้งสกิมเมอร์ (Skimmer) เพื่อขโมยข้อมูลบัตร หรือเจาะระบบของธนาคารเพื่อดึงเงินออกจากเครื่อง
เราเตอร์อินเทอร์เน็ต : หากไม่ได้รับการตั้งค่าความปลอดภัยที่เหมาะสม เราเตอร์อาจถูกแฮกเพื่อดักจับข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือถูกใช้เป็นช่องทางในการโจมตีอุปกรณ์อื่น ๆ ในเครือข่าย
บทความที่เกี่ยวข้อง : การโจมตีแบบ Website Defacement คืออะไร พร้อมวิธีป้องกัน

สำรวจประเภทของ Hacker มีกี่รูปแบบ ? แตกต่างกันอย่างไร
แฮกเกอร์มักใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบในการเจาะ ช่องโหว่ของระบบ เพื่อเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบุคคล องค์กร หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม การกระทำของแฮกเกอร์ไม่ได้มีเพียงด้านลบเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายหลากหลายตามจุดประสงค์ของการแฮก ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของ Hacker ได้ ดังนี้
ขอบคุณวิดีโอจาก : Amornrat Kongsutjai
1.แฮกเกอร์หมวกดำ
แฮกเกอร์หมวกดำ (ฺBlack Hat Hacker) เป็นกลุ่มแฮกเกอร์ที่ใช้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นขายต่อในตลาดมืด หรือใช้เพื่อเรียกค่าไถ่ โดยส่วนใหญ่มักมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเงิน ผ่านการเจาะเข้าระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมาก ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประเทศ
2.แฮกเกอร์หมวกขาว
แฮกเกอร์หมวกขาว (White Hat Hacker) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องข้อมูลและระบบคอมพิวเตอร์ พวกเขาทำงานให้กับหน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน หรือองค์กรต่าง ๆ โดยมีหน้าที่ตรวจสอบ ค้นหาช่องโหว่ และเสริมความปลอดภัยให้กับระบบก่อนที่แฮกเกอร์หมวกดำ (Black Hat Hacker) จะใช้ช่องโหว่เหล่านั้นในการโจมตี ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ภายใต้ข้อบังคับและกฎหมายตามแต่ละประเทศกำหนด
3.แฮกเกอร์หมวกเทา
แฮกเกอร์หมวกเทา (Grey Hat Hacker) เป็นแฮกเกอร์ที่อยู่ระหว่างแฮกเกอร์หมวกดำ และแฮกเกอร์หมวกขาว โดยแฮกเกอร์กลุ่มประเภทดังกล่าว จะทำการเจาะระบบไซเบอร์ เพื่อสำรวจจุดอ่อน เพื่อแสดงทักษะของตนเอง แต่ไม่ได้มีเจตนาร้ายเช่นเดียวกับแฮกเกอร์หมวกดำ ซึ่งแรงจูงใจส่วนใหญ่อาจจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือความสนุกเท่านั้น
4.แฮกเกอร์หมวกเขียว
แฮกเกอร์หมวกเขียว (Green Hat Hacker) คือคำที่ใช้เรียกกลุ่มแฮกเกอร์มือใหม่ที่กำลังอยู่ในช่วงศึกษาการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งมักเรียนรู้ผ่านการศึกษากรณีการแฮกที่ผ่านมา รวมถึงทดลองและฝึกฝนทักษะต่าง ๆ เพื่อพัฒนาตนเองให้กลายเป็นแฮกเกอร์มืออาชีพในอนาคต

5.แฮกเกอร์หมวกฟ้า
แฮกเกอร์หมวกฟ้า (Blue Hat Hacker) คือกลุ่มย่อยแยกจากแฮกเกอร์หมวกขาวอีกที โดยมีหน้าที่หลักในการทดสอบซอฟต์แวร์ก่อนเผยแพร่ใช้งาน เพื่อตรวจสอบว่ามีข้อบกพร่องหรือช่องโหว่ด้านความปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งจะจำลองสถานการณ์การโจมตีจากมุมมองของแฮกเกอร์ พร้อมกับให้คำแนะนำกับทีมซอฟต์แวร์ของบริษัทหรือองค์กรในการป้องกันระบบ
6.แฮกเกอร์หมวกแดง
แฮกเกอร์หมวกแดง (Red Hat Hacker) เป็นคำใช้กล่าวถึงแฮกเกอร์ที่ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐเพื่อยับยั้งหรือทำลายกลุ่มแฮกเกอร์หมวกดำ โดยมีเป้าหมายในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ แฮกเกอร์กลุ่มนี้ได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้สามารถใช้ทุกวิธีการในการกำจัดภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกระบวนการที่เป็นทางการหรือเข้มงวด
แม้ว่าการดำเนินงานของแฮกเกอร์หมวกแดงจะคล้ายกับแฮกเกอร์หมวกขาว ในแง่ของการปกป้องระบบ แต่สิ่งที่แตกต่างคือแฮกเกอร์หมวกแดงมุ่งเน้นผลลัพธ์เป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากในส่วนของจริยธรรม
7.แฮกเกอร์เคลื่อนไหวทางการเมือง
แฮกเกอร์เคลื่อนไหวทางการเมือง (Hacktivism) คือกลุ่มคนที่ใช้การโจมตีทางไซเบอร์เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง โดยไม่หวังผลประโยชน์ทางการเงิน แต่มีเป้าหมายในการเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนหรือข้อมูลลับของรัฐหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจในนโยบายหรือการกระทำของหน่วยงานต่าง ๆ
8.แฮกเกอร์สคริปต์คิดดี
แฮกเกอร์สคริปต์คิดดี (Script Kiddies Hacker) คือคำที่ใช้เรียกกลุ่มบุคคลที่มีทักษะการแฮกเบื้องต้น โดยมักใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่พัฒนาโดยแฮกเกอร์ที่มีประสบการณ์มากกว่า โดยไม่เข้าใจหรือศึกษาลึกซึ้งถึงเทคนิคการแฮกจริง จุดประสงค์หลักของพวกเขามักเป็นการสร้างความวุ่นวาย เช่น การโจมตีแบบ DDOS (Distributed Denial of Service) เพื่อทำให้ระบบหรือเว็บไซต์หยุดทำงาน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่แฮกเกอร์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง แต่ก็ยังสามารถก่อให้เกิดความเสียหายได้

สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการรู้จัก ประเภทของแฮกเกอร์ หวังว่าข้อมูลที่เราได้นำเสนอจะช่วยให้คุณเข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของแฮกเกอร์แต่ละประเภทได้ ซึ่งการมีความรู้เกี่ยวกับประเภทของแฮกเกอร์ จะช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัล
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจในหัวข้อนี้
ที่มาข้อมูล
Geeksforgeeks : Types of Hackers - GeeksforGeeks
AVG : Types of Hackers: White Hat, Black Hat, Gray Hat & More
IPCisco : Types of Hackers | White | Red | Green | Grey | Blue | Black Hat * IpCisco
Techtarget : Types of hackers: Black hat, white hat, red hat and more | TechTarget