มัลแวร์ (Malware) คืออะไร เรื่องใกล้ตัวที่คุณป้องกันได้
ในปัจจุบัน การโจรกรรมข้อมูลผ่านอุปกรณ์ไอที เช่น โทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้กลายเป็นหนึ่งในวิธีที่นักต้มตุ๋นใช้ เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญและละเอียดอ่อน โดยมีเป้าหมายเพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดหรือสร้างความเสียหาย ทั้งนี้ คำศัพท์ที่มักปรากฏในข่าวเกี่ยวกับการโจรกรรมข้อมูลคือ “มัลแวร์” ซึ่งเป็นโปรแกรมอันตรายที่ถูกออกแบบมาเพื่อแฝงตัวในระบบ และขโมยข้อมูลโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนควรมีความตระหนัก และสามารถป้องกันภัยไซเบอร์อย่างเหมาะสม ในบทความนี้ Launch Platform ขอพาทุกคนทำความรู้จัก มัลแวร์คืออะไร ? ถ้าพร้อมกันแล้ว ไปดูกันครับ
กดเลือกอ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
รู้จักมัลแวร์คืออะไร ภัยร้ายใกล้ตัวบนโลกดิจิทัล
มัลแวร์ (Malware) หรือชื่อเต็มคือ Malicious Software หมายถึง ซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อก่อให้เกิดอันตรายต่ออุปกรณ์ไอทีของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้อุปกรณ์ทำงานช้าลง การขัดขวางการทำงานของระบบ หรือแม้กระทั่งการขโมยข้อมูลส่วนตัวภายในเครื่อง หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ มัลแวร์ก็คือ ซอฟต์แวร์ที่มีจุดประสงค์ร้ายต่อผู้ใช้งานนั่นเองครับ นอกจากนี้ มัลแวร์ ก็มีชื่อเรียกตามประเภทของการจู่โจม โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่
Virus : ไวรัสเป็นชื่อเรียกที่หลายคนรู้จัก ซึ่งมักแฝงกับซอฟต์แวร์ที่ดาวน์โหลดลงอุปกรณ์ และจะทำงานก็ต่อเมื่อมีการรันไฟล์ซอฟต์แวร์นั้น อีกทั้งยังแพร่กระจายไปก่อกวนการทำงานของระบบ
Trojan : โทรจันคือมัลแวร์ที่มักซ่อนตัวมากับโปรแกรมที่ดูเหมือนปลอดภัย โดยมักถูกออกแบบมาโดยเหล่า Scammer เพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานติดตั้งโปรแกรม เมื่อโปรแกรมถูกติดตั้ง โทรจันจะเริ่มขโมยข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่านหรือข้อมูลทางการเงิน
Spyware : สปายแวร์เป็นมัลแวร์ที่แฝงตัวมากับโปรแกรมโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการตรวจจับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เช่น ข้อมูลการเข้าเว็บไซต์ หรือพฤติกรรมการใช้งาน จากนั้นข้อมูลที่รวบรวมได้จะถูกส่งกลับไปยังผู้ไม่หวังดี
Ransomware : แรนซัมแวร์ หรือที่เรียกว่ามัลแวร์เรียกค่าไถ่ เป็นโปรแกรมที่บล็อกการเข้าถึงไฟล์หรือระบบในอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน และจะปลดล็อกก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินค่าไถ่ให้กับผู้โจมตี
Worm: เวิร์มมีลักษณะการทำงานคล้ายกับไวรัส แต่แตกต่างกันตรงที่เวิร์มสามารถแพร่กระจายและโจมตีอุปกรณ์ของคุณได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรันไฟล์หรือซอฟต์แวร์ใด ๆ
Adware : แอดแวร์เป็นมัลแวร์ที่แสดงโฆษณาแบบไม่พึงประสงค์บนหน้าจอของผู้ใช้งาน โดยมักมาพร้อมกับโปรแกรมที่ดาวน์โหลดฟรี และในบางกรณีอาจใช้วิธีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานเพื่อนำไปขายให้กับผู้โฆษณา
Rootkit : รูทคิท เป็นมัลแวร์ที่ถูกออกแบบมา เพื่อซ่อนตัวจากซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยในระบบของคุณ โดยมักถูกใช้เพื่อควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกล ทำให้ผู้โจมตีสามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญหรือเปลี่ยนแปลงระบบโดยที่ผู้ใช้งานไม่รู้ตัว
ถ้าคุณสนใจเรื่อง Malware : อย่ามองข้ามบทความนี้ :
การโจมตีแบบ Website Defacement คืออะไร พร้อมวิธีป้องกัน
พาส่อง! สาเหตุของการเกิดมัลแวร์ ที่คุณไม่คาดคิด
บ่อยครั้งที่มัลแวร์สามารถเข้าสู่อุปกรณ์ของคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัว สาเหตุมักเกิดจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างไม่ระมัดระวัง หรือการละเลยการป้องกันความปลอดภัย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านข้อมูลและการทำงานของระบบ นอกจากนี้ ภัยคุกคามเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คุณคาดคิด โดยเราจะพาไปไขข้อสงสัย การกระทำอะไรบ้าง ที่เสี่ยงต่อการเกิดมัลแวร์ ดังนี้
1.อีเมลฟิซชิ่ง
อีเมลฟิชชิ่ง (Phishing Emails) คือรูปแบบของการจู่โจมของเหล่า Scammer เลือกใช้ในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งหลายคนมักเปิดอีเมลที่ดูน่าสงสัย หรือการคลิกลิงก์ที่แนบมาในอีเมล โดยไม่ได้ตรวจถึงความถูกต้องของอีเมลดังกล่าว ทำให้มัลแวร์ถูกดาวน์โหลดเข้าสู่อุปกรณ์ของคุณโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้น ควรตรวจสอบที่มาของอีเมลและหลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์จากแหล่งที่ไม่แน่ใจ
2.ระบบ USB แฟลชไดรฟ์
อีกหนึ่งสาเหตุยอดฮิตที่หลายคนมักมองข้าม คือการใช้งานแฟลชไดรฟ์ที่นำไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก เช่น คอมพิวเตอร์สาธารณะ หรืออุปกรณ์ที่ไม่มีการป้องกันไวรัส จากนั้นนำแฟลชไดรฟ์กลับมาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของคุณเอง การกระทำเช่นนี้อาจเป็นช่องทางให้มัลแวร์แฝงตัวในแฟลชไดรฟ์ และแพร่กระจายเข้าสู่ระบบของคุณได้โดยง่าย
3.เว็บไซต์ต้องห้าม
การเข้าชมเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัยหรือเว็บไซต์ต้องห้าม โดยเฉพาะเว็บผู้ใช้งานเว็บไซต์ผิดกฎหมาย เช่น เว็บพนัน เว็บหนังเถื่อน หรือเว็บอนาจาร อาจทำให้มัลแวร์ถูกดาวน์โหลด และติดตั้งในอุปกรณ์ของคุณโดยอัตโนมัติ
4.โปรแกรมเถื่อน
การติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนหรือซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยซอฟต์แวร์เหล่านี้ มักถูกปรับแต่งเพื่อใส่โค้ดอันตราย ซึ่งอาจขโมยข้อมูลสำคัญหรือสร้างความเสียหายต่อระบบได้
3 สัญญาณเตือนว่ามีมัลแวร์ ภายในอุปกรณ์ของคุณ
มัลแวร์เองก็มีสัญญาณเตือนเช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์ที่แสดงอาการเมื่อเจ็บป่วย การทำงานผิดปกติบางอย่างของอุปกรณ์ไอทีสามารถบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของมัลแวร์ที่แฝงตัวอยู่ โดยวันนี้ เราขอนำเสนอ 3 สัญญาณเตือนสำคัญ ที่ควรระวัง ดังนี้
1.อุปกรณ์ทำงานช้าลง
การเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ไอทีย่อมเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่ลื่นไหลเหมือนตอนซื้อมาครั้งแรก อย่างไรก็ตาม หากอุปกรณ์ของคุณเริ่มทำงานช้ากว่าปกติโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน อาจเป็นเพราะมัลแวร์กำลังใช้ทรัพยากรของระบบ เช่น CPU หรือหน่วยความจำ เพื่อดำเนินการบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขโมยข้อมูล หรือแพร่กระจายตัวเอง
2.มีไฟล์แปลกประหลาดในเครื่อง
เมื่อมีไฟล์ที่คุณไม่เคยสร้างหรือดาวน์โหลดปรากฏขึ้นในอุปกรณ์ เช่น ไฟล์ที่มีชื่อไม่คุ้นเคยหรือไฟล์ที่ดูผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณว่ามัลแวร์ได้แทรกตัวเข้ามาและสร้างไฟล์เหล่านั้นเพื่อทำงาน
3.อุปกรณ์ทำงานเอง
หากอุปกรณ์ของคุณเริ่มทำงานโดยที่คุณไม่ได้สั่ง เช่น เปิดโปรแกรมเอง ส่งอีเมลโดยไม่ทราบ หรือมีการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าของระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต สิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากมัลแวร์ที่ควบคุมระบบของคุณ
บริการ : ดูแลระบบหลังบ้าน (MA) ปรับเพิ่มความปลอดภัยให้เว็บไซต์รอดจากมัลแวร์ ปรึกษาเราได้เลยตอนนี้
สำรวจ แนวทางการป้องกันมัลแวร์ขั้นพื้นฐาน ที่ควรทำตาม
มัลแวร์เป็นภัยคุกคามที่สามารถแฝงตัวมาได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ที่ดาวน์โหลด เว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย หรือซอฟต์แวร์เถื่อน ดังนั้น การป้องกัน และการเฝ้าระวังมัลแวร์จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อปกป้องข้อมูลและความปลอดภัยของคุณในโลกดิจิทัล เรามีคำแนะนำเบื้องต้นในการใช้งานอุปกรณ์ไอทีที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ดังนี้
ขอบคุณวิดีโอจาก : ETDA Thailand
งดการเข้าเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ : หลีกเลี่ยงการเข้าชมเว็บไซต์ที่ไม่น่าไว้วางใจ หรือเว็บไซต์ที่ไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัย เช่นเว็บไซต์ที่ไม่มีเครื่องหมาย HTTPS เนื่องจากเว็บไซต์เหล่านี้อาจมีมัลแวร์แฝงตัวอยู่
จ้างทีม MA : บริการ MA (Maintenance Service Agreement) คือบริการช่วยดูแลระบบหลังบ้านให้ทำงานได้ดี และยังมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยดูแลแก้ไขในด้านของความปลอดภัยในระบบหลังบ้านด้วย หากเว็บไซต์ของคุณถูกโจมตี ทีมที่ทำ MA จะช่วยดำเนินการป้องกัน หรือแก้ไขให้นั่นเองครับ
ไม่ควรโหลดโปรแกรมผิดลิขสิทธิ์ : ซอฟต์แวร์เถื่อนมักมาพร้อมกับมัลแวร์ที่สามารถโจมตีระบบหรือขโมยข้อมูลได้ ควรใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเสมอ
ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันมัลแวร์ : โดยปกติแล้วโปรแกรม Anti-Virus มักมาพร้อมกับอุปกรณ์ไอทีอยู่แล้ว เมื่อมีมัลแวร์เข้าอุปกรณ์ของคุณ การติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสและมัลแวร์ก็สำคัญ เช่น Malwarebytes AntiVirus จะยิ่งเพิ่มความสามารถช่วยป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อัปเดตระบบปฏิบัติการ : สำหรับการอัปเดตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ช่วยปิดช่องโหว่ที่มัลแวร์อาจใช้โจมตี ดังนั้น ควรเปิดใช้งานการอัปเดตอัตโนมัติเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
สรุป
การป้องกันมัลแวร์ขั้นแรก เริ่มต้นจากความระมัดระวังในการใช้งานอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ต ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เราแนะนำ อีกทั้งหากคุณพบสัญญาณเตือนถึงการมีอยู่ของมัลแวร์ ควรรีบดำเนินการป้องกันทันที เพื่อลดความเสียหายที่คาดไม่ถึงในระยะยาว
เลือกอ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจในหัวข้อนี้:
ที่มาข้อมูล :